วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560

เจลหรือเอสเซ้นส์

        เจลหรือเอสเซ้นส์ ส่วนผสม คือ น้ำ + สารบำรุงผิว + สารสร้างเนื้อเจล สำหรับเอสเซ้นส์ ก็แค่ไม่ต้องมีสารสร้างเนื้อเจล เท่านั้นเอง การสร้างเนื้อเจลนั้นมีหลายตัว ดังนี้

  • Xanthan Gum , ECOCERT Organic Natural Thickener เป็น Gum จากธรรมชาติ ข้อดี คือ มาจากธรรมชาติ 100% ใช้งานง่ายทนกรด-ด่างได้ดี และทนอิเล็กโทรไลต์ได้ ข้อเสีย คือ ลักษณะเนื้อเจล จะไม่สวยเหมือนเจลจากเคมี
  • Hyaluronic Acid (ชนิด Standard) เป็นสารให้ความชุ่มชื้นผิว ด้วยการกักเก็บน้ำไว้ให้ผิว แต่มีคุณสมบัติก่อตัวเป็นเนื้อเจลได้ จึงเป็นที่นิยมใช้กัน เพราะสามารถใช้สร้างเนื้อเจลได้ แถมยังช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้ผิวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ข้อดี คือ ทนอิเล็กโทรไลต์ได้ แต่ข้อเสีย คือ ทนกรด-ด่างไม่ได้มากนัก และลักษณะเนื้อเจล จะเหลวกว่าสารสร้างเนื้อเจลชนิดอื่นๆ วิธีแก้ คือ ถ้าความหนืดไม่เพียงพอ ให้เติมสารสร้างเนื้อเจลชนิดอื่นๆ เข้าไปช่วยด้วย
  • Pro Polymer เป็นสารสร้างเนื้อเจลจากโพลิเมอร์ ข้อดี คือ สร้างเนื้อเจลได้สวยกว่าสารธรรมชาติอย่าง Xanthan Gum ข้อเสียคือไม่สามารถทนอิเล็กโทรไลต์ได้ดีเท่าแม้จะทนได้พอสมควร
อิเล็กโทรไลต์ (electrolyte) คืออะไร

        สังเกตุดูว่าเวลาเราทาเจลลงบนผิว ไม่นานเจลจะเหลวกลายเป็นน้ำ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างเหงื่อของเรา ซึ่งมีอิเล็กโทรไลต์อยู่ ทำปฏิกิริยากับเนื้อเจล ทำให้เจลกลายเป็นน้ำ เพราะฉะนั้น สมมุติว่าเราทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเป็นเจล แล้วใส่อิเล็กโทรไลต์ลงไปในนั้น เจลก็จะสลายตัวเป็นน้ำในเวลาอันสั้น สารที่มีอิเล็กโทรไลต์ นอกจากเหงื่อเราแล้ว ก็ทุกตัวที่มีเกลือ (Sodium) ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเหมือนเหงื่อเราที่มีเกลืออยู่ดัวย ตัวอย่างสารเหล่านี้ เช่น

  • Sodium Lactate
  • Sodium PCA
  • Natural Moisturizing Amino Acids
  • Lactic Acid (AHA)
  • Aloe Vera
  • Zinc PCA
  • Azelaic Acid
  • DMAE
  • Acetyl L-Carnitine
        แม้ว่า Pro Polymer จะไม่สามารถทนอิเล็กโทรไลต์ ได้ดีเท่า Xanthan Gum หรือ ECOCERT Natural Organic Thickener แต่ก็สามารถทนได้ เพียงแต่ต้องใช้ในอัตรามากขึ้น เวลาที่เราสร้างเนื้อเจลด้วย Pro Polymer แล้วเติมส่วนผสมที่มี electrolyte แล้วจะสังเกตุได้ทันทีว่า ความหนืดของ Pro Polymer จะลดลง จากเจลหนืดๆ กลายเป็นเจลเหลวเป็นน้ำทันที วิธีแก้ไข คือ การเติม Pro Polymer ในอัตราที่มากขึ้น เช่น จาก 1% กลายเป็น 2% หรือจนกว่าจะได้ความหนืดของเนื้อเจลที่ต้องการ

อัตราส่วนการใช้สารสร้างเนื้อเจล


  • Xanthan Gum 0.1-2.0% (ยิ่งมากยิ่งหนืด แนะนำใช้ที่ 1%) 
  • Hyaluronic Acid Standard 0.5-1.0% (ยิ่งมากยิ่งหนืด แต่ห้ามใช้เกิน 1% หากหนืดไม่พอ ให้เติมสารสร้างเจลชนิดอื่นแทน)
  • Pro Polymer 1-5% (แนะนำที่ 2% แต่ถ้ามีอิเล็กโทรไลต์ในสูตรมาก ให้ใช้ Pro Polymer ให้มากขึ้น ไม่งั้นจะเหลวไป)
        มาถึงขั้นตอนการผสม นำสารบำรุงผิวที่เราเลือกไว้ต่างๆ ผสมลงในน้ำ คนให้ละลายเข้ากันสมบูรณ์ จากนั้นก็แค่เติมสารสร้างเจล ไม่ว่าจะเป็น Xanthan Gum , Hyaluronic Acid Standard หรือ Pro Polymer จากนั้นก็คนหรือปิดฝาเขย่า จนกลายเป็นเนื้อเจล มีเคล็ดลับอยู่ว่า อุณหภูมิที่ต่ำลง จะช่วยให้ Pro Polymer , Hyaluronic Acid Standard สามารถละลายตัว และก่อเนื้อเจลได้เร็วขึ้น ส่วนถ้าเป็นสารธรรมชาติ คือ Xanthan Gum อุณหภูมิที่สูงหน่อย จะช่วยให้เป็นเจลได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ควรใช้ความร้อน เพราะจะไปกระทบกับส่วนผสมตัวอื่นที่อาจเสื่อมเมื่อเจอความร้อนได้ เพราะฉะนั้น ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องได้เลยไม่ต้องแช่เย็น

ตัวอย่าง

เจลบำรุงผิวให้แข็งแรง และให้ผิวขาวใส โดยมีสูตร ดังนี้

  • Vitamin B3 (บำรุงผิว ลดริ้วรอย ให้ผิวขาวใส) 4%
  • N-Acetyl Glucosamine (ให้ความชุ่มชื้นผิว ให้ผิวขาวใส) 4%
  • Alpha Arbutin (ให้ผิวขาวใส) 2%
  • Pro Polymer 2% หรือ Xanthan Gum 1%
  • Phenoxyethanol (สารกันเสีย) 1%
  • Water (ส่วนที่เหลือ 87% หรือ 88%)
        นำสารทุกอย่างผสมลงในน้ำ (ตัวไหนก่อนตัวไหนหลัง ไม่สำคัญ) ยกเว้น Pro Polymer หรือ Xanthan Gum คนให้เข้ากัน ผงทุกอย่างละลายสมบูรณ์ แล้วค่อยใส่ Pro Polymer หรือ Xanthan Gum ลงไป จากนั้น คนหรือเขย่า ให้เข้ากัน อาจใช้เวลา 3-5 ชม. ให้ Pro Polymer หรือ Xanthan Gum สร้างเนื้อเจลให้สมบูรณ์ เป็นอันเสร็จ
        หากต้องการสร้างเนื้อเจลด้วย Hyaluronic Acid : Hyaluronan หรือ Hyaluronic Acid (หรือมักเรียกสั้นๆ ว่า HA) คือ สารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในเนื้อเยื่อของร่างกายของเรา โดยจะมีมากที่สุดในส่วนที่นุ่มๆ เช่น ผิวเรา ดวงตาเรา โดยมีลักษณเหมือนเป็นเจลเชื่อมอยู่ระหว่างเซลล์ต่างๆ ของเรา ทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำให้แก่เซลล์ ปัญหาเกิดขึ้นตอนที่ พอเราอายุมากขึ้น สาร HA นี้จะลดน้อยลง ทำให้ผิวเราเริ่มแห้ง เริ่มเหี่ยว เริ่มย่น
        สาร Hyaluronic Acid ที่ใช้กันในเครื่องสำอางค์ รวมถึงใช้ในการแพทย์ (เป็น Filler ไว้ฉีดเข้าหน้า) เกิดจาก Boitechnology จากการบ่มของแบคทีเรีย ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่ปลอดภัย
        ปัจจุบันที่นำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ มีอยู่หลายแบบ คือ แบ่งตามน้ำหนักของ Molecule ซึ่งมีหน่วยเป็น Daltons

  • Hyaluronic Standard Molecule (ประมาณ 1,000,000 Daltons)
  • Hyaluronic Nano Molecule (ประมาณ 35,000 - 50,000 Daltons)
        ความแตกต่างของ โมเลกุลธรรมดา และโมเลกุลเล็ก คือ ความสามารถในการซึมเข้าสู่ชั้นผิว ถ้าโมเลกุลเล็กก็จะซึมเข้าไปลึก ในขณะที่โมเลกุลธรรมดา จะซึมอยู่ชั้นบนๆ เท่านั้น
        ความแตกต่างไม่ใช่แค่เรื่องการซึมเข้าผิว แต่เป็นเรื่องการผสมด้วย Standard Molecule นั้นจะก่อตัวให้กลายเป็นเจลได้ ในขณะที่ Nano Molecule จะไม่ต้องก่อตัวกลายเป็นเจล แต่จะเหลวเหมือนน้ำ

ตัวอย่าง

        Gel Hyaluronic Acid แบบมีทั้งโมเลกุลเล็ก + โมเลกุลธรรมดา DHL Double Moisture Lotion Light Touch ราคา 560 บาท ปริมาณ 200 ml. ถ้าใครเคยซื้อมาลอง จะเห็นว่า ในส่วนประกอบมี Alcohol อยู่ด้วย งงไปเลย ว่าจะใส่มาทำไม น่าจะเป็นเรื่อง skin-feel อีกแล้ว ทาแล้วรู้สึกว่าซึมหายไปเลย (แต่จริงๆ แล้ว คือ แอลกอฮอล์มันระเหยไป) การใช้ โมเลกุล 2 ขนาด ผสมกัน จะได้ผลดีกว่า โมเลกุลเดี่ยว

ขั้นตอนการทำ : Double Hyaluronic Acid

        Concept : บริสุทธิ์ที่สุด คือมีแต่ Hyluronic Acid 2 ชนิด คือ โมเลกุลเล็ก + โมเลกุลปกติ รวมกับน้ำบริสุทธิ์ โดยไม่เติมอะไรนอกไปจากนี้ เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่บริสุทธิ์ที่สุด ใช้ยังไงก็ไม่แพ้ ไม่ระคายเคืองผิว

ส่วนผสมที่ต้องใช้

  • Di Water 99 ml.
  • Hyaluronic Standard Molecule 0.5 gram
  • Hyaluronic Nano Molecule 0.5 gram
ขั้นตอน

  • ใส่ Hyaluronic Nano Molecule 0.5 กรัม และ Hyaluronic Standard Molecule 0.5 กรัม ลงในน้ำที่เตรียมไว้ 99 ml. ปิดฝา แล้วเขย่าซัก 3 นาที
  • นำสิ่งที่ได้จากข้อ 1 ไปแช่เย็น 3-5 ชม.
  • ลองเปิดออกมาดูและตรวจสอบว่า Hyaluronic ละลายสมบูรณ์แล้วหรือยัง (ไม่มีก้อนๆ อะไรลอยอยู่) ถ้ายัง ก็เขย่าซักหน่อยแล้วแช่เย็นต่อ แต่ถ้าสมบูรณ์แล้วเป็นอันเสร็จ
        สุดท้าย อย่าลืมเติมสารกันเสีย เช่น phenoxyethanol ซั 0.5-1.0% หยดเข้าไป แล้วคนให้เข้ากัน ตอนแรกหยดลงไปอาจจะกลายเป็นขุ่นๆ  แต่คนหรือเขย่าซักพักจนกว่าจะใส
        ***สารกันเสียมีความจำเป็นต่อสูตรนี้ เพราะหากไม่ใส่สารกันเสียแล้วเราเก็บไม่ดี เช่น ไม่เก็บในตู้เย็นตลอด แบคทีเรียอาจจะเริ่มก่อตัว ก่อนที่สูตรเราจะเสีย Hyaluronic Gel ที่เราทำ จะเสียความหนืดก่อน คือ จากเนื้อเจลนิดๆ จะกลายเป็นน้ำเหลวเลย สาเหตุ คือ แบคทีเรียเหล่านี้ เข้าไปทำลายโมเลกุลของ Hyaluronic จากโมเลกุลที่มีความยาวหน่อย (ยิ่งยาวยิ่งหนืด) แตกกลายเป็นโมเลกุลที่เล็กลง ทำให้เหลวเป็นน้ำ เพราะฉะนั้น แนะนำว่า ควรเติมสารกันเสียซักหน่อย จะได้สบายใจ โอกาศที่เราจะเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นได้ตลอดเวลามีน้อยมาก***
        เนื้อเจลจะมีความคล้ายกับ Hada Labo มากๆ แถมเป็น Double Hyaluronic Acid ด้วย ถ้าเปรียบเทียบกันเมื่อทาลงบนแขนแล้ว เนื้อของ Hada Labo มีความเป็นก้อนเจลมากกว่านิดหนึ่ง เพราะมีส่วนประกอบช่วยสร้างเนื้อเจล แต่เรื่องการซึมสู่ผิวไม่มีความแตกต่าง
        ในกรณีที่ต้องการเติมสารชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

  • ผงที่สามารถละลายในน้ำ เช่น Vitamin B3 , Allanoin (ต้องเติมแล้วคนให้ละลายอย่างสมบูรณ์ ก่อนใส่ Hyaluronic)
  • ของเหลว เช่น เปปไทด์ชนิดต่างๆ (ต้องเติมและคนให้เข้ากัน หลัง Hyaluronic ละลายอย่างสมบูรณ์ กลายเป็นเนื้อเจล แล้วเท่านั้น
        การดัดแปลงสำหรับผิวที่ไม่ได้แห้งมาก : เนื่องจากสูตรของ Hada Labo ที่แท้จริงแล้ว จะใช้ Hyaluronic Acid รวมกันปริมาณไม่เกิน 0.2% เท่านั้น ความแตกต่างของการใช้ที่ 0.5% ของสองชนิด (Standard + Nano) รวมกันได้ 1% นั้น จะมีความเหนอะหนะกว่ามากพอสมควร ทำให้เหมาะกับผิวที่แห้ง แต่อาจจะเหนอะหนะกับผิวธรรมดาหรือแค่ขาดน้ำเล็กน้อย หากใช้กับผิวที่ไม่แห้งมาก ควรปรับความเข้มข้นของ Hyaluronic Acid ให้อยู่ในระดับต่ำลงที่ 0.1-2.0% เท่านั้น



อัตราส่วนการผสมน้ำ และสารต่างๆ

        เวลาทางผู้ผลิตสารแจ้ง spec จะแจ้งเป็น %W/W หมายถึง % ของน้ำหนัก ยกตัวอย่างเช่น Peptide A ใช้ 3% เพื่อลดริ้วรอย หมายถึง หนัก 3% ใน ของเหลวหนัก 100% หลังเติมรวมกัน
        สาเหตุที่เรายึดถือน้ำหนัก (กรัม) ไม่ใช่ปริมาตร (มิลลิลิตร , ลิตร) เนื่องจาก เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยน ปริมาณของสารจะเปลี่ยนได้ ในขณะที่น้ำหนักยังคงเดิมเสมอ เราจึงต้องอ้างอิงตามน้ำหนักเสมอ ไม่ใช่ปริมาตร
        นั่นหมายถึง ถ้าเราต้องการเจลลดริ้วรอยปริมาณ 100 กรัม เราใช้น้ำ 97 กรัม และใส่ Peptide A 3 กรัม พอเติมรวมกัน ก็จะได้ของเหลว 100 กรัม
        จากนั้น ก็อาจจะสงสัยกันว่า แล้วถ้าใส่สารเยอะแยะมากๆ เช่น Peptide 10 ตัว ตัวละ 3 กรัม แถมมี สารสกัดธรรมชาติ อีกซัก 10 ตัว ตัวละอีก 3 กรัม แล้วส่วนที่เป็นน้ำก็จะนิดเดียว (40 กรัม หรือเท่ากับ 40 ml.) นั่นเป็นสาเหตุที่ เวลาเราเลือกส่วนประกอบต้องเลือกให้พอเหมาะ ไม่ใช่จะใส่ทุกอย่างเข้าไปได้ น้ำมีความสำคัญมากในการละลายส่วนประกอบทั้งหลาย (solvent) และช่วยนำพาส่วนประกอบทั้งหลายซึมสู่ผิว เพราะฉะนั้น เลือกกรุณาเลือกส่วนประกอบให้ไม่มากจนเกินไป ให้มีที่วางสำหรับน้ำด้วย แต่ถ้าถามว่าควรจะมีน้ำซักกี่ % ตรงนี้อยู่ที่ความชอบของแต่ละคน บางคนบอกว่าชอบใส่สารต่างๆ เยอะนิดนึงตอนทายอมเหนียวหน่อย แต่แป๊บเดียวก็ซึมหมดแล้ว บางคนบอกว่า ต้องลื่นๆ ตั้งแต่ทา เอาเป็นว่า ถ้ามือใหม่ ครั้งแรกเลย ขอให้มีน้ำอย่างน้อย 75% ก่อนแล้วกัน หลังจากนั้น จะปรับขึ้นปรับลงก็ตามอัธยาศัย



การเลือกส่วนประกอบเครื่องสำอางค์ให้เหมาะกับผิวหน้า


  1. เลือกส่วนประกอบที่ผสมง่าย เนื่องจากเราเป็นมือสมัครเล่น อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้อาจจะไม่มีความสมบูรณ์นัก เลือกส่วนประกอบที่ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก แต่ได้ผลดี เพราะฉะนั้นหากเป็นส่วนผสมที่ต้องใช้ความร้อนละลาย หรือต้องมีวิธีผสมพิเศษ ก็ควรจะเลี่ยง ดูง่ายๆ คือ อ่านวิะีการผสมหรือวิธีการใช้ ภายใต้รายละเอียดของผลิตภัณฑ์แต่ละตัว ถ้าอ่านดูแล้ว ท่าทางจะยุ่งยากก็เลี่ยงซะดีกว่า นอกจากถ้าชำนาญแล้วก็ลุยเลย
  2. เลือกส่วนประกอบหลายๆ ตัว ใส่อย่างละเล็กน้อย ดีกว่าใส่น้อยตัว แต่ใส่เยอะๆ เพราะว่าส่วนประกอบแทบทุกตัว มี Limit ของมันอยู่ สมมติว่าเราผสมสาร active ชนิดหนึ่งที่ 5% การเพิ่มให้เป็น 10% ก็มักจะไม่ได้ให้ผล 2 เท่า ของ 5%
  3. ไม่ใส่มากจนทำให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อข้น หรือเหนียว เพราะเวลาใช้ เราจะรู้สึกไม่สบายผิว เหนอะหนะ และสุดท้ายก็อาจจะเลิกใช้ ก็จะเสียของเปล่าๆ นะ แต่มากน้อยเท่าไหร่ จริงๆ อยู่ที่แต่ละคน ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นเจล ให้มีน้ำอย่างน้อย 70% ก็ถือว่ายังดีอยู่ ต่ำไปกว่านี้บางทีก็อาจจะเริ่มหนืดเหนียว แต่ก็อยู่ที่ส่วนประกอบที่เราผสมด้วย ถ้าเป็นครีม ตรงนี้ก็ยิ่งจะลำบาก เพราะบางคนก็ชอบให้รู้สึกว่าทาแล้วเหมือนมีอะไรเคลือบผิวบางๆ อยู่ อย่างนี้ก็อาจจะต้องมีน้ำมันซัก 20-30% บางคนไม่ชอบความรู้สึกมีอะไรเกาะอยู่ ก็อาจจะต้องลดสัดส่นน้ำมันลง แล้วใช้น้ำเยอะขึ้น
  4. ไม่เลือกอะไรที่ทำหน้าที่ซ้ำๆ กันหลายๆ ตัว ตัวอย่างเช่น เปปไทด์ลดริ้วรอย หลายๆ ตัว ก็ทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน การที่จะใส่ไปซัก 4 ตัว ก็คงจะเสียเงินเป็น 2 เท่าของการใส่เพียง 2 ตัว ในขณะที่ ผลที่ได้อาจจะดีกว่าเล็กน้อยเท่านั้น
  5. แบ่งและเลือกส่วนประกอบออกเป็นกลุ่มๆ ตามการทำหน้าที่ วิธีที่ดีที่สุดในการเลือกส่วนประกอบอย่างที่บอก คือ อย่างละนิดละหน่อย 1-2 ตัวทำหน้าที่ A , 1-2 ตัว ทำหน้าที่ B , 1-2 ตัวทำหน้าที่ C ยกตัวอย่าง เปปไทด์ลดริ้วรอย 1 ตัว , ต้านอนุมูลอิสระ 1 ตัว , ผิวขาวกระจ่งใส 1 ตัว , ให้ความชุ่มชื้นผิว 1 ตัว ตรงนี้มีข้อยกเว้นนิดนึง แบบ 1+1 มากกว่า 2 คือ สารบางตัว ทำหน้าที่เสริมกัน ยกตัวอย่างเช่น Natural Moisturizing Factor (NMF) เช่น Sodium Lactate , Sodium PCA , Urea ถ้าผิวแห้งมาก ใส่ทั้ง 3 ตัวเข้าไป ก็จะทำหน้าที่เสริมกันได้เป็นอย่างดีมาก
  6. ยาวิเศษไม่มีในโลก ถึงวันนี้ ยังไม่มีส่วนประกอบใด ที่ทาแล้วสวย ทาแล้วสาว ทาแล้วย้อนเวลากลับไป 10 ปีที่แล้วได้ สิ่งที่ทำได้ คือ การบำรุงและชะลออย่าต่อเนื่อง ให้ผิวมีสุขภาพดี ไม่รับสารต่างๆ ที่มีประโยชน์ คอยบำรุง และชะลอการเกิดริ้วรอย 
  7. ของแพงไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป เวลาเลือก อยากให้ลองเลือกส่วนประกอบที่ถูกๆ ก่อน ส่วนประกอบที่ราคาถูกหลายๆ ตัว มีประสิทธิภาพดีมาก ยกตัวอย่างเช่น Vitamin B3 ซึ่งมีราคาไม่แพง แต่ให้ผลดี ถึงขนาด ผลิตภัณฑ์ของ Olay แทบทุกชนิด ที่ขายกันขวดเล็กๆ 500-800 บาท ใช้กันแทบทุกตัวใน Line Regenalist ของเค้า โดยมักจะเป็นส่วนประกอบหลักเลยด้วย เพราะฉะนั้น การที่เราเลือกสรรราคาไม่แพง ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้ผลที่ดี
  8. ผิวคนเราแตกต่างกัน ถ้าเพื่อนเราใช้อันนั้นดี ไม่ได้หมายความเสมอไปว่าเราจะใช้แล้วดีด้วย เผลอๆ ใช้แล้วอาจจะแพ้ก็ได้ เพราะฉะนั้น การเลือกและทดสอบ และปรับแต่ง ให้เหมาะกับผิวของเราเอง จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด โดยค่อยๆ เพิ่มเติมสารที่เราอยากทดลอง และสังเกตุดูการตอบสนองของผิวเราว่าดีเพียงใด มีการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่มีก็อาจสมควรต้องตัดออกเพราะเสียเงินฟรี แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา
        ทุกอย่างต้องใช้เวลา การที่จะหวังผลว่า ทาครั้งเดียวขาวเลย ตึงเลย พวกนี้ส่วนใหญ่เป็น marketing ทั้งนั้น ขาวในไม่กี่วันยังพอมีความเป็นไปได้ แต่เต่งตึงภายในไม่กี่วัน อันนี้หลอกลวงทั้งนั้น (วิธีการหลอกลวงก็ง่ายมากเลย คือ ผสมสารยกกระชับผิวเข้าไป ทาแล้วก็จะให้ผิวตึง แต่พอล้างออกก็เหี่ยวเหมือนเดิม)
        การเลือกส่วนผสม ส่วนผสมที่สามารถผสมในเจลหรือเอสเซ้นส์ได้ ต้องเป็นส่วนผสมที่สามารถละลายน้ำได้ (ถ้าเป็นผง ก็ต้องเป็นผงที่สามารถละลายน้ำได้ ถ้าเป็นของเหลว ก็ต้องเป็นของเหลวที่สามารถผสมเข้ากับน้ำได้) เนื่องจากเจลหรือเอสเซ้นส์เป็นน้ำล้วน แต่ถ้าเป็นเซรั่ม ครีม หรือ โลชั่น สามารถเลือกส่วนผสมที่ละลายในน้ำมันได้

Patch-test หรือการทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้จริง

        การที่เรายิ่งใส่สารหลากชนิดมากขึ้น ก็ทำให้เรามีโอกาสแพ้ได้มากขึ้น ตรงนี้ไม่ใช่ความผิดของส่วนประกอบนั้นๆ หรือความผิดของผิวเราแต่อย่างใด ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่เหมาะกับเรา หากเป็นคนผิวแพ้ง่าย patch-test ด้วยการทาบนข้อพับ เช่น ที่ข้อพับแขน จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า เราสามารถใช้สารต่างๆ เหล่านั้นบนผิวหน้าเราได้

สารแต่ละตัวที่เลือกจะเข้ากันได้มั๊ย

        การเข้ากันได้ - ไม่ได้ เราดูที่ความเสถียรของส่วนผสมแต่ละตัว ว่าต้องการอยู่ในสภาพใดเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น สาร A ต้องอยู่ใน pH ระหว่าง 4-7 เพราะฉะนั้นสูตรเราผสมเสร็จ pH ก็ต้องอยู่ช่วงประมาณนี้ แต่ถ้าเราต้องการใส่สาร B ซึ่งจะทำงานได้ก็ต่อเมื่ออยู่ใน pH 3-4 (ตัวอย่างเช่น สาร AHA ทั้งหลายที่ไว้ผลัดเซลลืผิวหน้า) แปลว่า สูตรเราต้องให้ pH พอดีที่ 4.0 ถ้ามากไปกว่านี้ AHA ก็ไม่ทำงาน ถ้าน้อยไปกว่านี้ สาร A ก็เสื่อมสภาพ โดยสารแต่ละตัวจะมีรายละเอียดอธิบายอยู่แล้ว ว่าต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมใด ถ้าเราหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับส่วนผสมทุกตัวได้ ก็ไม่ต้องกังวลใดๆ ว่ามันจะไม่เข้ากัน ข้อกำหนดของส่วนผสมแต่ละตัวอ่านได้จากรายละเอียดของส่วนผสมนั้นๆ



การศึกษา และทำความเข้าใจวิธีการผสม

        วิธีการผสมนั้น อันดับแรกเราต้องเลือก รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เราต้องการก่อนโดยผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหลักๆ มี 3 ชนิด คือ

  1. เจลหรือเอสเซ้นส์ ซึ่งจะประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนผสมหลัก แตกต่างกันที่ เจลมีความหนืด แต่เอสเซ้นส์เป็นน้ำเหลว
  2. ครีมหรือโลชั่น ซึ่งจะประกอบด้วยน้ำมันและน้ำ อาจมีซิลิโคนผสมด้วย โดยถ้าเป็นครีมก็จะมีน้ำมันเยอะหน่อย โลขั่นน้ำมันก็น้อยหน่อย
  3. เซรั่ม ซึ่งประกอบด้วยซิลิโคนและน้ำ
        สังเกตุดูว่า ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แบบไหนก็ต้องมีน้ำเป็นส่วนผสม

        แต่ละชนิด มีลักษณะเนื้อผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน และที่สำคัญ เวลาทาลงบนผิว ความรู้สึกต่อผิวก็จะแตกต่างกัน ดังนี้

  1. เจล หรือ เอสเซ้นส์ จะเหมือนเป็นน้ำ ทาแล้วจะชุ่มหน้า ซักพักก็จะค่อยๆ หายไป ทั้งจากการซึมและจากการระเหยของน้ำสู่อากาศ ข้อดีของเจลหรือเอสเซ้นส์ คือ ไม่มีน้ำมัน ไม่ทำให้เหนียวเหนอะหนะ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับส่วนผสมที่เราผสมลงไปด้วย แต่จากตัวของเจลหรือเอสเซ้นส์เอง เนื่องจากเป็นน้ำเปล่าๆ ไม่มีทางทำให้เหนียวเหนอะได้) เหมาะสำหรับทั้งผิวแห้ง ผิวธรรมดา ผิวมัน แต่ถ้าเราผสมส่วนผสมเข้าไปเยอะหน่อย ก็อาจจะเหมาะกับแค่ผิวแห้ง หรือผิวธรรมดาเท่านั้น เพราะมีโอกาสที่จะเริ่มเหนอะได้ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์เจลหรือเอสเซ้นส์ เช่น Hada Labo Hyaluronic Gel หรือ SK-II Essecne นั่นเอง
  2. เซรั่ม จะเหมือนเป็นเจลที่ระเหยไป การซึมพอๆ กับเจล แต่ส่วนผสมที่เป็นซิลิโคนจะระเหยสู่อกาสไว ทำให้รู้สึกสบายผิว ทั้งนี้จะเปรียบเทียบเรื่องการซึมของเจลหรือเอสเซ้นส์ กับการซึมของเซรั่มอีกที ซิลิโคนมีคุณสมบัติพิเศษ คือ การระเหยที่ไวกว่าน้ำ (ซึ่งความเร็วในการระเหยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่แห้งหรือชื้นด้วย) และน้ำมันซึ่งไม่สามารถระเหยได้เลย โดยเมื่อเราผสมซิลิโคนชนิดระเหยไวๆ ลงไปในเซรั่มเยอะๆ เวลาทา เราก็จะรู้สึกว่าแป๊บเดียวก็จะหายจากผิวไปเลย ซึ่งเกิดจากส่วนผสมบางส่วนซึมลงผิวไป แต่ซิลิโคนจะระเหยหายไป ทิ้งไว้แค่ความรู้สึกนุ่มลื่นบนผิว ตัวอย่างของเซรั่มที่ประกอบด้วยซิลิโคนเยอะๆ เช่น Olay Regenerist หรือ Cliniquie Turnaround Concentrate การทำเซรั่ม มีน้ำหนักเบา ระเหยไว ทำให้เหมาะกับทั้งผิวแห้ง ผิวธรรมดา และผิวมันด้วย คนที่มีผิวมันสามารถใช้ได้เพราะโอกาสที่จะทำให้เหนอะหนะ จะต่ำกว่าชนิดอื่นๆ ทั้งหมด
  3. ครีม หรือ โลชั่น เนื่องจากมีน้ำมันอยู่ น้ำมันจะเคลือบผิวไว้บางๆ หลังจากที่ทาลงไป ข้อดี คือ ช่วยลดการสูญเสียน้ำของผิว โดยเฉพาะเวลาที่เราอยู่ในสภาพอากาศแห้ง ซึ่งอากาศที่แห้งจะพยายามดึงน้ำออกจากผิวเรา แต่ข้อเสีย คือ ไม่เหมาะสำหรับคนผิวมันหรือเป็นสิวอุดตันได้ เพราะฉะนั้นจะเหมาะกับคนผิวแห้งมากที่สุด แต่คนผิวธรรมดาก็น่าจะยังพอใช้ได้ สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนด้วย



วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

จะเริ่มต้นอย่างไรสำหรับมือใหม่

ทำไมต้องปรุงเครื่องสำอางค์ใช้เอง

  • ราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว เนื่องจากไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการโฆษณา รวมถึงการตลาดมากมาย
  • ผลิตภัณฑ์ที่สดกว่า ทำให้ได้ผลดีกว่า เนื่องจากส่วนผสมหลายๆ ชนิด เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เสื่อมคุณภาพได้ง่าย เช่น เปปไทด์บำรุงผิว ต้องเก็บอยู่ในตู้เย็นเสมอ แต่โดยทั่วไปแล้ว เครื่องสำอางค์ในท้องตลาด ต้องผ่านหลายขั้นตอนตั้งแต่การผลิต จนมาถึงจำหน่ายตามร้านค้า และมาถึงมือลูกค้า ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 6 เดือน และอาจต้องผ่านสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น แดด ความร้อน นอกจากนี้ สารบางชนิด เช่น Vitamin C เมื่อผสมอยู่ในน้ำแล้ว จะทำให้เสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพด้อยลงตามเวลา
  • สามารถผสมส่วนผสมได้มากกว่า ทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่า
  • สามารถเลือกส่วนผสมที่เหมาะกับผิวเราได้ดีที่สุด เนื่องจากไม่ใช่ส่วนผสมทุกชนิด ที่จะเหมาะกับผิวของทุกๆ คน สารบำรุงผิวบางชนิดเหมาะกับบางคน แต่ใช้ไม่ด้ผลสำหรับบางคน
  • ลดโอกาสการแพ้ เนื่องจาก เราสามารถเลือกส่วนผสม ที่เราไม่แพ้ และหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่ทำให้เราแพ้ได้ รวมถึงการไม่ใส่น้ำหอม หรือการไม่แต่งสี ทำให้โอกาสที่ผลิตภัณฑ์จะระคายเคืองผิวมีต่ำลง
  • ปลอดภัย และสบายใจ เมื่อเรารู้ว่า สิ่งที่เราใช้บนผิว มีส่วนผสมอะไรบ้าง โดยไม่มีส่วนผสมแปลกปลอม ที่ในบางครั้งผู้ผลิตอาจจะไม่ได้แจ้งบนฉลากได้
อุปกรณ์ที่ต้องมี

        จริงๆ แล้วที่สำคัญก็คงมีแต่ ถ้วยผสม (แนะนำว่าเป็นถ้วยแก้ว จะดีที่สุด เพราะสารบางตัวที่เราผสมอาจจะทำปฏิกิริยากับพลาสติกได้) และช้อนคน (แนะนำว่าใช้เซรามิค) นอกจากนี้ ก็ตาชั่งความละเอียดสูง (ระดับ 0.01 กรัม) หรือถ้าไม่มี ก็ใช้ถ้วยตวงก็ได้

        นอกจากนี้ หากต้องการผสมสูตรที่ซับซ้อนขึ้น เช่น สูตร AHA อาจจะต้องมี pH meter หรือ กระดาษลิตมัส ได้ทดสอบค่า pH ให้เหมาะสมกับสภาพผิวด้วย แต่ถ้าผสมสูตรบำรุงทั่วไป ไม่ต้องกังวลเรื่อง pH หรือความเป็นกรด-ด่าง เนื่องจาก ส่วนผสมบำรุงผิวแทบทั้งหมด จะมีความเป็นกรดอ่อนๆ อยู่แล้ว ยกเว้นบางตัวจริงๆ ที่เป็นด่างเล็กน้อย pH ที่เหมาะสมกับผิวเราคือประมาณ 4.5 - 6.5 ตราบใดที่อยู่ในช่วงนี้ถือว่า OK แต่ถ้าเป็นกรดหรือด่างเกินกว่านี้ จะเริ่มระคายเคืองผิว ส่วนใหญ่แล้วถ้าเราผสมโดยทั่วไปจะได้ผลิตภัณฑ์ของเราออกมาเป็นกรดอ่อนๆ อยู่แล้ว

การใช้ถ้วยตวงแทนตาชั่น

        การใช้ถ้วยตวงแทนตาชั่น ในกรณีที่ไม่มีตาชั่งความละเอียดสูง เป็นการกะประมาณสารได้เท่านั้น เนื่องจาก น้ำหนักของสารต่างๆ มักจะไม่เท่ากับปริมาตร ยกเว้นน้ำบริสุทธิ์เท่านั้นที่ปริมาณจะตรงกับน้ำหนัก (1 กรัม = 1 มิลลิลิตร) แต่เนื่องจากสารต่างๆ ส่วนใหญ่ เราไม่มีความจำเป็นต้องชั่งให้ถูกต้อง 100% เพียงแต่สามารถประมาณเอาได้ว่า เราไม่ได้ใส่เกินอัตราที่กำหนด ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น Vitamin B3 มีข้อกำหนด ว่าเราใส่ได้ 1-4% เวลาสั่งซื้อ ทางบริษัทจะ pack หลอดละ 7 กรัม เราก็นำมาตวงว่าได้กี่ ml. จากนั้นก็หักเอาตามสัดส่วน สมมุติว่า ตวงแล้วได้ 5 ml. ถ้าเราต้องการใช้ 4 กรัม นั่นคือ 57% ของ 5 ml. หรือ เท่ากับ 2.85 ml.




เจลหรือเอสเซ้นส์

        เจลหรือเอสเซ้นส์ ส่วนผสม คือ น้ำ + สารบำรุงผิว + สารสร้างเนื้อเจล สำหรับเอสเซ้นส์ ก็แค่ไม่ต้องมีสารสร้างเนื้อเจล เท่านั้นเอง การสร้า...